ตำรวจ (CIB) ร่วม อย. ตัดตอนเครื่องสำอางเถื่อนเร่งขาว ตรวจยึดครีมถุงหลากสี กว่า 145 กิโลกรัม
22 ธันวาคม 2566

วันที่ 20 ธันวาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์  ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์  เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์  รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ  นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา  กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์  คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์  อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมปฏิบัติการตรวจค้นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางไม่มีเลขจดแจ้ง โดยลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลาง 9 รายการ รวม 241 ชิ้น

พฤติการณ์กล่าวคือสืบเนื่องจากปรากฏข่าวโรงงานแห่งหนึ่งที่มีการผลิตครีมเถื่อนที่ไม่ได้มาตราฐานโดยพบซากหนูตายในภาชนะที่ผลิต โดยผู้ผลิตเครื่องสำอางได้ถูกดำเนินคดีไปแล้วนั้น จากเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงมีมาตรการเชิงรุก โดยการติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งผู้บริโภคอาจซื้อมาใช้จนได้รับอันตรายแก่ร่างกาย

โดยต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ตรวจสอบการโฆษณาผ่านเฟสบุ๊คชื่อ “ครีมกิโลเร่งผิวขาว ครีมตัวขาวราคาส่ง” ซึ่งเฟสบุ๊คดังกล่าวมียอดผู้ติดตามกว่า 1,000 ราย และพบว่ามีการรับผลิตเครื่องสำอางโดยใช้สีและกลิ่นตามสั่ง อีกทั้งมีการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ครีมทาผิวบรรจุถุงพลาสติก ถุงละ 1 กิโลกรัม โดยอวดอ้างสรรพคุณการเร่งผิวขาว อาทิเช่น ใช้แล้วจะทำให้ผิวขาวไวภายใน 3 วัน, รักษากระแดดตามผิวกาย, รักษารอยแผลเป็นให้จางลง, ลดจุดด่างดำ ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อาจมีส่วนผสมของสารอันตรายที่เป็นสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง เช่น สารปรอท ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ สเตียรอยด์ ซึ่งหากใช้เป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหน้าดำ ผิวบางลง แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย ผิวแตกลายถาวร เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับสารปรอทในปริมาณมาก อาจเกิดพิษสะสม ส่งผลให้ไตอักเสบ ซึ่งเคยมีผู้แพ้สารปรอทในเครื่องสำอางจนเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นำหมายค้นของศาลแขวงชลบุรี เข้าทำการตรวจค้นสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ในพื้นที่ ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ผลการตรวจค้นพบ น.ส.มนทิกานต์  (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าว

ซึ่งให้บริการเกี่ยวกับการรับฝาก และจัดส่งสินค้าตรวจยึด 1. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอมเนื้อครีมคละสีบรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม (เลขที่ใบรับจดแจ้งสิ้นอายุ) จำนวน 7 ถุง,  2. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เนื้อครีมคละสี บรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 138 ถุง, 3. ฉลากและบรรจุภัณฑ์อื่นๆ รวมตรวจยึดของกลาง 9 รายการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 241 ชิ้น โดยเป็นเครื่องสำอางเนื้อครีมหลากสีบรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 145 ถุง ( 145 กิโลกรัม ) ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

จากการสืบสวนขยายผลทราบว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเถื่อนดังกล่าว น.ส.ณัฐถาวรีย์ฯ (สงวนนามสกุล) เป็นผู้นำมาฝากจัดเก็บในลักษณะ “เก็บ แพ็ค ส่ง” ที่อาคารดังกล่าวเพื่อรอการจำหน่าย โดยมีค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้า น.ส.ณัฐถาวรีย์ฯ จะส่งข้อมูลการสั่งซื้อให้ผู้ให้เช่าทำการแพ็ค และส่งให้กับลูกค้า โดยทำมาแล้วประมาณ 1 ปี

อนึ่ง การตรวจค้นครั้งนี้พบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เป็นผลิตภัณฑ์ปลอม และไม่มีเลขจดแจ้ง ส่งขายให้กับประชาชนซึ่งจะทำให้ได้รับผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ในส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด พนักงานสอบสวนจะส่งผลิตภัณฑ์ตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขหากพบวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ฐาน “จำหน่ายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม

1. พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

พล.ต.ต.วิทยา  ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ควรตรวจสอบฉลากบรรจุภัณฑ์ สี กลิ่น อย่างถี่ถ้วน และควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยา ที่ถูกเกินกว่าปกติ หรือโฆษณาอวดอ้างผลที่เกินจริง ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการโฆษณาและได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ ใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ และขอเน้นย้ำกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลายว่าอย่านำสินค้าที่ผิดกฎหมายมาจำหน่ายหรือหลอกลวงผู้บริโภคโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนขยายผลจนสามารถตรวจยึดเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก ในครั้งนี้พบเครื่องสำอางปลอม ที่นำเลขที่จดแจ้งเครื่องสำอางที่มิใช่ของตนเองมาแสดงและเลขที่จดแจ้งดังกล่าวมีสถานะสิ้นอายุแล้ว

ในส่วนของพี่น้องประชาชนขอย้ำเตือนว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่าย โดยสามารถดูได้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์ หรือที่บรรจุภัณฑ์ ควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน กรณีซื้อออนไลน์ให้ซื้อจากร้านค้าออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรียบร้อยแล้ว และอย่าหลงเชื่อโฆษณา “รักษาสิว รอยแผลเป็น ฝ้า กระ” “ช่วยให้ผิวขาว” เพื่อจูงใจในการสั่งซื้อสินค้า

ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

“ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด”

************************************

วันที่เผยแพร่ข่าว  22 ธันวาคม 2566  / ข่าวแจก 37 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ลิงก์ข่าวต้นฉบับ

คลังรูปภาพ