อย. - ปคบ.ทลายเครือข่าย Call Center เฟส 2 หลอกขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ
6 กันยายน 2565


pr-5.jpg


เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต. อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท.รรท.รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ.สมเกียรติ ตันติกนกพร รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4บก.ปคบ., พ.ต.ท.สุพจน์ พุ่มแหยม, พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ รอง ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, และ นางอรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร่วมกันแถลงข่าว จับกุมเครือข่าย call center สร้างข้อมูลเท็จหลอกขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ แอบอ้างบุคคลผู้มีชื่อเสียง เป็นเหตุให้ผู้บริโภคหลงเชื่อในสรรพคุณของสินค้า

สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ได้มีดีเจสาวชื่อดังมาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ว่าพบเพจเฟซบุ๊กชื่อ Center for the health of the nation นำรูปถ่ายของตนไปทำการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก Efferin และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการนำภาพบุคคลมาแอบอ้างเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพต่อมไร้ท่อ เป็นผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวานและนักโภชนาการรับรองผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าโฆษณาดังกล่าว ล้วนแต่เป็นการสร้างข้อมูลเท็จ หลอกขายผู้บริโภค จึงได้ประสานตำรวจสอบสวนกลาง สืบหาต้นตอแก๊งค์ call center ที่หลอกลวงประชาชน

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนจนทราบว่าบริษัทของกลุ่มผู้ต้องหาเป็นผู้ดำเนินการโฆษณาโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านช่องทางเว็บไซต์ต่าง ๆ จำนวนหลายรายการ ได้แก่ เครื่องสำอาง เช่น Havita, Calmerol , Bustwell Everlift ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น Efferin, Bravits, Diaherbal, Garcinia Complex ,Eranol เป็นต้น โดยบริษัทดังกล่าว จะใช้รูปแบบการโฆษณาขายสินค้าด้วยข้อความอันเป็นเท็จ มีการตัดต่อรูปภาพบุคคลที่มีชื่อเสียง แพทย์หรือสถานพยาบาลชื่อดัง มาใช้ประกอบการโฆษณา และมีการจัดทำผู้ซื้อสินค้าและผู้รีวิวการใช้ปลอมขึ้น เพื่อหลอกหลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อสรรพคุณของสินค้า จากนั้นฝ่ายขายของบริษัท ซึ่งทำงานในลักษณะ Call Center จะโน้มน้าวให้ผู้ซื้อหลงเชื่อตัดสินใจซื้อสินค้าดังกล่าว ภายหลังจากที่ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าก็พบว่าไม่มีสรรพคุณตามที่โฆษณาหลอกลวงไว้แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอหมายจับกลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าว จำนวน 4 ราย

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท.ได้ทำการจับกุม น.ส.อิสรีย์ และนายพิศิษฐ์ (ขอสงวนนามสกุล) พร้อมประสาน อย. เข้าตรวจค้นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว จำนวน 6 แห่ง พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย จำนวน 33 รายการ มูลค่าประมาณ 24 ล้านบาท และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ระหว่างเดือน ม.ค. - มิ.ย.65 บริษัท มีรายได้จากการหลอกหลวงขายผลิตภัณฑ์สุขภาพให้แก่ผู้บริโภค ประมาณ 219 ล้านบาท มีการจ่ายเงินค่าโฆษณาไปยังต่างประเทศ (เวียดนาม, สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) จำนวน 188 ล้านบาท และยังมีเงินหมุนเวียน มากกว่า 660 ล้านบาท

นางอรัญญา เทพพิทักษ์  ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ กล่าวย้ำเตือนประชาชน ขออย่าได้หลงเชื่อโฆษณาที่หลอกลวงเกินจริง และสั่งซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้โดยหวังผลการรักษาโรค เช่น เบาหวาน หลอดเลือดต่อมลูกหมาก เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ แก้ปัญหาการได้ยินลดริ้วรอยย้อนอายุไป 30 ปี เป็นต้น เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหลักฐาน หรือผลการทดสอบประสิทธิภาพทางวิทยาศาสตร์ของผลิตภัณฑ์มาสนับสนุน ขอให้ผู้บริโภคระลึกไว้เสมอว่า อาหารหรือเครื่องสำอางไม่มีสรรพคุณรักษาโรค ขอให้ผู้บริโภคคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ หากหลงเชื่อซื้อสินค้าที่รักษาไม่ได้จริงตามที่กล่าวอ้าง จะทำให้สูญเสียทั้งเงินและเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์เฉพาะทาง ทั้งนี้มีผลิตภัณฑ์หลายรายการที่ อย. ได้เคยออกข่าวประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) และเว็บไซต์ อย. เช็ค ชัวร์ แชร์ แล้ว และจะติดตามเฝ้าระวัง ข่าวปลอมของผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง หากพบแหล่งผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายหรืออาจไม่ปลอดภัยในการบริโภค ขอให้แจ้งเบาะแสร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ 

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าขอให้ระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ โดยเว็บไซต์เหล่านี้จะใช้เทคนิคเชิญชวนให้กด “สั่งซื้อพร้อมส่วนลด 50%” ในลักษณะการสั่งซื้อผ่าน Call Center และการจัดส่งสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง ผ่านทางเว็บไซต์ต่างประเทศ มีการกล่าวอ้างบุคคลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ เช่น แพทย์ เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย โดยเนื้อความเหมือนการให้ความรู้และสอดแทรกผลิตภัณฑ์ที่ต้องการขายลงไป ทำให้คนตกเป็นเหยื่อได้ง่าย และขอเตือนไปยังผู้คิดจะกระทำความผิดหลอกลวงคนอื่นด้วยวิธีการเอาความเจ็บป่วย หรือความเยาว์วัยมาหลอกลวงขายสินค้าให้ผู้บริโภค หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ ผู้ที่พบเห็นการกระทำผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ. 1135 หรือ เพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา



650906_0594955001662450384.jpg





650906_0506350001662450391.jpg





650906_0449205001662450406.jpg



650906_0221221001662450424.jpg





650906_0276682001662450432.jpg