อย. ร่วมกับ สตช. และ บก.ปคบ. เผาทำลายผลิตภัณฑ์สุขภาพของกลาง ที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษกว่า 120 ตัน มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ผู้ต้องหากว่า 600 คน
29 พ.ค. 62 นี้ อย. ร่วมกับ สตช. และ บก.ปคบ. เผาทำลายผลิตภัณฑ์สุขภาพของกลางที่มิใช่ยาเสพติดให้โทษ ครั้งที่ 7 ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากปฏิบัติงานร่วมกันกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้นำเข้า โดยนำผลิตภัณฑ์สุขภาพของกลางที่คดีสิ้นสุดมาทำลาย น้ำหนักกว่า 120 ตัน รวมกว่า 500 คดี ผู้ต้องหากว่า 600 คน มูลค่าของกลางกว่า 300 ล้านบาท เพื่อขจัดผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายให้สิ้นซาก และไม่หวนกลับมาสร้างปัญหาให้กับสังคมได้อีก
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ พลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเผาทำลายผลิตภัณฑ์สุขภาพของกลางที่มิใช่ยาเสพติดให้โทษ พร้อมด้วย นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พลตำรวจตรี ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค พันตำรวจเอกวินัย วงษ์บุบผา รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทาความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค พันตำรวจเอกชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค จากการที่กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ปฏิบัติการเชิงรุกในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างจริงจัง เพื่อมิให้มีผลิตภัณฑ์สุขภาพใดที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภควางจำหน่ายในท้องตลาด โดยหลังจากการสืบสวนสอบสวน ทำให้จับกุมผู้กระทำความผิดทั้งที่เป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ทั้ง ยา อาหาร เครื่องสำอาง ที่มีคดีสิ้นสุดแล้ว โดยยึดเป็นของกลางตั้งแต่ปี 2554 2561 รวมกว่า 500 คดี ผู้ต้องหากว่า 600 คน ดังนั้น เพื่อขจัดผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคให้หมดไป และไม่มีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายกลับสู่วงจรการค้าที่ก่อปัญหาต่อสังคมได้อีกต่อไป จึงได้จัดให้มีพิธีการเผาทำลายผลิตภัณฑ์สุขภาพของกลางที่มิใช่ยาเสพติดให้โทษ ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 10.00 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา รวมมูลค่าของกลางที่นำมาทำลายทั้งสิ้นกว่า 300 ล้านบาท น้ำหนักรวมกว่า 120 ตัน
ของกลางที่นำมาทำลายในวันนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Paya Slim โดยนำขายทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก Paya Thailand โดยมีเลขสารบบอาหาร 2 เลข และเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ การดำเนินการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมายทางเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายผ่านระบบ call center เป็นผลิตภัณฑ์ไม่ระบุเลขทะเบียนตำรับยา เลขสารบบอาหาร และเลขที่จดแจ้งเครื่องสำอาง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ INTOXIC (ถ่ายพยาธิ) 2. ผลิตภัณฑ์ HAMMER OF THOR (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เสริมสมรรถภาพทางเพศ) 3. ผลิตภัณฑ์ Hammer of Thor Gel (เจลที่ใช้สำหรับทาที่บริเวณอวัยวะเพศชาย ทำให้อวัยวะเพศชายเพิ่มขนาด/แข็งตัว) 4.ผลิตภัณฑ์ Titan Gel (เจลที่ใช้สำหรับทาที่บริเวณอวัยวะเพศชาย เพื่อเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชาย) และ 5. ผลิตภัณฑ์ Eco Slim (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก) ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่มีทั้งเลขทะเบียนยาและเลขสารบบอาหาร และ คดีตรวจตลาดดอนเมือง เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่มีเลขสารบบ เครื่องสำอางไม่มีเลขที่ใบรับแจ้ง หรือมีฉลากแต่ไม่ครบถ้วนถูกต้อง เช่น ครีมผิวขาว ลิปสติก อายแชโดว์ สบู่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดอ้วน ผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพทางเพศ เช่น Maxman เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น โดยข้อหาความผิดเป็น ข้อหาผลิต/นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารปลอม ผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ผลิตเพื่อจาหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ผลิต ขาย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาปลอม ผลิต ขาย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต ผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายเครื่องสำอางปลอม และ ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางที่มิได้มีเลขจดแจ้ง เป็นต้น
อย. จะร่วมมือกับ สตช. และ บก.ปคบ. ในการเฝ้าระวังปราบปรามจับกุมผู้กระทาความผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเข้มงวด โดยรวบรวมของกลางที่คดีสิ้นสุดแล้ว เพื่อเผาทำลายผลิตภัณฑ์สุขภาพของกลางที่ไม่ใช่ยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง และเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเห็นการปฏิบัติงานอย่างจริงจังของภาครัฐ ที่จะ ไม่ปล่อยให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายคงอยู่ในสังคมไทย จึงขอให้ผู้บริโภคช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสเมื่อพบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายมายัง สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือมาร้องเรียนด้วยตนเอง ที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทาผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) อย. หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสายด่วน บก.ปคบ.1135 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป