กสทช. – อย. –สคบ. - ดีอี-สตช.
จับมือลงนาม ผนึกกำลังกำกับดูแลโฆษณาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย
สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ อย. – สคบ.-ดีอี-สตช. ร่วมลงนาม MOU การกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ทั้งทางสื่อวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ หวังลดปัญหาการ โฆษณาอาหาร ยา เกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค ประสานความร่วมมือบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย แลกเปลี่ยนข้อมูล ประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ผู้บริโภค ป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์มีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการนำเสนอโฆษณาที่มีลักษณะโอ้อวด หรือแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จหรือเกินจริง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและสังคมเป็นส่วนรวม สื่อเหล่านี้เป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้รวดเร็ว และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า หรือบริการต่างๆ ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง ถูกละเมิดสิทธิจากผู้ประกอบกิจการได้ง่าย ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามร่วมกันแก้ปัญหาการโฆษณา มีการพัฒนาความร่วมมือ และบูรณาการการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมแต่เนื่องจากรูปแบบการโฆษณาได้เปลี่ยนแปลงไปมากการคุ้มครองผู้บริโภคจึงต้องทันต่อเหตุการณ์การบูรณาการงานคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในเชิงรุก การบูรณาการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็น จึงเป็นที่มาของการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ขึ้นในวันนี้
พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นภารกิจที่ กสทช. และ อย. ต่างก็มีอำนาจหน้าที่ภายใต้กฎหมายของตนเอง โดยที่ สำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเฉพาะการกำกับดูแลการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ ก่อนหน้านี้การทำงานเป็นลักษณะที่แต่ละหน่วยงานต่างทำงานไปภายใต้ระบบของตนเอง ทำให้การพิจารณาข้อร้องเรียนแต่ละเรื่องกว่าจะได้ข้อยุติและสิ้นสุดกระบวนการต้องใช้เวลาค่อนข้างนานอย่างน้อย 6 เดือน หรือบางกรณีอาจใช้เวลานานร่วมปี นอกจากนี้บทลงโทษต่อการกระทำความผิดกรรมเดียวกันยังอาจต้องรับโทษ 2 ทาง ทำให้อาจเกิดความซ้ำซ้อนและเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมขึ้นใน สำนักงาน กสทช. และมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นหรือการตรวจพบการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์ วินิจฉัยและชี้มูลได้ทันที โดยปัจจุบันสามารถสรุปเรื่องให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 วัน นับตั้งแต่มีความร่วมมือจนถึงปัจจุบัน ตรวจพบผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์กระทำความผิด และดำเนินการไปแล้วกว่า 70 ราย สั่งระงับการโฆษณาที่ผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 120 กรณี จึงถือได้ว่าการปฏิบัติงานร่วมกันประสบความสำเร็จอย่างมาก ก่อให้เกิดการตื่นตัวและปรับตัวของผู้ประกอบการอย่างกว้างขวาง เนื่องจากโทษทางปกครอง สำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดตามกฎหมาย กสทช. นั้นค่อนข้างสูง ทำให้ปัญหาการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงเห็นว่าโมเดลการทำงานดังกล่าวเป็นโมเดลที่น่าสนใจ เป็นกลไกที่แก้ปัญหาได้ เมื่อ สำนักงาน กสทช. จับมือกับ กระทรวงสาธารณสุขขยายผลไปยังส่วนภูมิภาค โดยพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก็สามารถจัดการปัญหาการโฆษณาได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสื่อวิทยุกระจายเสียง ตรวจพบผู้ประกอบการที่เข้าข่ายกระทำความผิดสูงถึงเกือบ 400 สถานี โดยพบการโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายมากกว่า 800 กรณี มีการวินิจฉัยว่ามีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายแล้วกว่า 170 สถานี และเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ราว 475 กรณี สั่งระงับการโฆษณาไปแล้วกว่า 100 กรณีในสถานีวิทยุ 50 สถานีและจะเร่งดำเนินการระงับการโฆษณาที่ผิดกฎหมายทั้งหมด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์นั้น กสทช. ไม่มีอำนาจโดยตรงจึงต้องกำกับดูแลร่วมกับกระทรวง DE ที่ผ่านมา อย. ตรวจพบการโฆษณาที่ผิดกฎหมายในกว่า 570 URL ซึ่ง กสทช. สามารถแจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เนต หรือ ISP ระงับ/ปิดกั้น ได้สำเร็จกว่า 240 URL หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ทั้งนี้ กระทรวง DE จะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป กสทช. จึงเสนอให้ใช้โมเดลการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ โดยขยายผลให้ครอบคลุมไปยังสื่ออื่นๆ ด้วย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน กสทช. , อย. , สคบ. , กระทรวง DE และ สตช. โดย บก.ปคบ. ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครบถ้วน ครอบคลุมทุกมิติ
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวว่า ที่ผ่านมานอกจากมีการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาโฆษณาจากผู้ร้องเรียนและเครือข่ายแล้ว ส านักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังได้จัดให้มีการตรวจสอบและเฝ้าระวังการโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ อีกด้วย โดยมีการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กสทช. ในการกำกับดูแลสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ กระทรวง DE ในการระงับ/ปิดกั้นเว็บไซต์ บก.ปคบ. ในการตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมาย และ สคบ. กรณีการเรียกร้องค่าเสียหาย การดำเนินธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ในปี 2561 อย. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณามากกว่า 4,000 รายการ และตรวจจับผู้กระทำผิดมูลค่าสินค้ามากกว่า 200 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกสื่อ จึงได้ร่วมกันจัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงในวันนี้
พลตำรวจตรีประสิทธิ์เฉลิมวุฒิศักดิ์เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจได้มีการทำการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยใช้ช่องทางโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ป้ายโฆษณา วิทยุ และทางอินเทอร์เน็ต โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณ แจ้งรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของสินค้าหรือบริการที่เป็นเท็จเกินจริง หรือใช้เทคนิคทางการตลาดที่เอาเปรียบผู้บริโภค เช่น การจัดรายการส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม แจ้งราคาเกินจริง เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าได้ของดีราคาแพง แต่สามารถซื้อได้ในราคาถูก และพบว่าปัญหาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจเข้าถึงผู้บริโภคง่ายขึ้น เร็วขึ้น ในช่องทางการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต ใช้กลหลอกล่อทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อได้ง่าย สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับการได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กรณีใช้แล้วไม่เห็นผล ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ซึ่ง สคบ. ได้ดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยและเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก การทำความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่าเป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบังคับใช้กฎหมาย ช่วยกันประชาสัมพันธ์ความรู้ และจัดให้มีระบบการเฝ้าระวัง จัดทำฐานข้อมูลผลการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน
ในเชิงรุก สคบ. ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อทำการตรวจสอบสินค้าและการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจในสื่อต่าง ๆ ซึ่งพบว่าทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ และเคเบิ้ลทีวี มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจเป็นการอวดอ้างสรรพคุณที่เป็นเท็จเกินจริง 70-80 % และได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว
นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ได้มีความร่วมมือและประสานงานกับ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกสทช. อย. สคบ. และ บก.ปคบ. มาตั้งแต่มีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ หลังจากมีการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้ครอบคลุมฐานความผิดมากขึ้น และเพิ่มบทกำหนดโทษให้สูงขึ้น ในปี พ.ศ. 2560 โดยได้ร่วมกันดำเนินการตามขั้นตอนการระงับการแพร่หลายของเว็บไซต์โฆษณาอาหาร ยา ที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคหรือแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง ซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายต่อความปลอดภัยแก่ชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมา พบว่าเรื่องร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การนำเสนอและเข้าถึงข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำได้ง่าย ส่งผลให้สภาพการซื้อขายเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเปลี่ยนจากการซื้อขายจากเว็บไซต์ e-Commerce มาเป็นการซื้อขายผ่าน Social Media เช่น Facebook Instagram Line ซึ่งเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้ใช้โดยตรง ทำให้การควบคุมดูแลมีความซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ จะเป็นกลไกและแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของตนได้อย่างเข้มแข็ง รวมถึงการบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย ให้สามารถร่วมกันหยุดยั้งการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หรือเอาเปรียบผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการให้ความร่วมมือ รวมถึงจะดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน เพื่อให้ได้รับการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซื้อขายออนไลน์ การสาธารณสุข หรือการศึกษา โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหา ช่วยให้ประชาชนไม่ถูกละเมิดสิทธิ หรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากการโฆษณาดังกล่าว ได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้